วัดสำแล เป็นวัดรามัญตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบ้านกระแชงอำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานีมีเนื้อที่ ๑๒ ไร่เศษ ชาวมอญที่อพยพมาเมื่อครั้งต้นรัตนโกสินทร์ได้ร่วมกันสร้างขึ้น ต่อมาในราวพุทธศักราช ๒๔๑๒ ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ วัดมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก แต่ต่อมาได้รับการบูรณะเป็นอย่างดีโดยเจ้านายชั้นสูงและถวายเป็นวัดธรรมยุทธ อุโบสถหลังเดิมหันหน้าเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นโบสถ์มหาอุตม์ด้านหลังไม่มีประตู ขนาดของโบสถ์มีความกระทัตรัดหน้าบรรณตอนบนสลักลายสีทองบนพื้นขาว แกะสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ลักษณะช้างรูปแบบสมจริงมีพระอินทร์ประทับนั่งบนบุษบกเหนือกระพองช้าง ตอกแต่งด้วยลายดอกบุนนาค กรอบด้านล่างเป็นซุ้มพระบัญชรมีพระพุทธรูปอยู่ภายในกรอบหน้าต่างและประตูทางเข้าแกะลายเรียบง่ายแต่ฝีมือชั้นครูความโดดเด่นของโบสถ์เก่าอีกประการหนึ่ง คือ ตัวโบสถ์จะผายเล็กน้อย รับกับเสาหน้ามุกแต่ละต้นซึ่งเป็นลักษณะโคนใหญ่ปลายเรียว มีใบสีมาตั้งอยู่บนฐานกลีบบัวไม่มีซุ้ม โบสถ์หลังนี้ปัจจุบันมีอายุกว่าร้อยปี สภาพชำรุดทรุดโทรมแล้วแต่ยังคงงดงามด้วยศิลปะการก่อสร้างทางวัดจึงได้บูรณะไว้เป็นอนุสรณ์