วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2567 เวลา 09.00 น.
นางพิชชานันท์ เกษมวราภรณ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ร่วมพิธีเปิดโครงการมาตรการองค์กรความปลอดภัยทางถนนจังหวัดปทุมธานี กำหนด 6 มาตรการช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ณ หอประชุมจงกลพรหมพิจิตร แกรนด์ฮอลล์ โรงเรียนปทุมวิไล อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โดยมีนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธาน นอกจากนี้มีนายประสิทธิ์ ไชยเวช ผู้อำนวยการศูนย์ ปภ. เขต 1 ปทุมธานี นางสาวกันตรัตน์ เริ่มสูงเนิน ปลัดจังหวัดปทุมธานี นางสาวสุพีพร โมรา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปทุมธานี พ.ต.อ.วิวัฒน์ อัศวะวิบูลย์ ผกก.สภ.เมืองปทุมธานี นางวิพร แววศรีผ่อง นายอำเภอเมืองปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมงาน
โดยข้อมูลจากกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด การบูรณาการข้อมูลอุบัติเหตุ 3 ฐาน ของจังหวัดปทุมธานี พบว่าในปี พ.ศ. 2566 จังหวัดปทุมธานีมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นรวม 1,857 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ (Admit) จำนวน 1,619 ราย และเสียชีวิต จำนวน 352 ราย โดยยานพาหนะเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ และพฤติกรรมส่วนใหญ่ที่พบ คือ ไม่เคารพกฎจราจร ซึ่งมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุใหญ่ จำนวน 21 ครั้ง ซึ่งในขณะที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแจ้งให้จังหวัดดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ โดยการกำหนดมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด ตามกรอบแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ พร้อมจัดทำสื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อประกาศให้บุคลากรในส่วนราชการทราบแนวทางการดำเนินการตามมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนนภายในส่วนราชการจังหวัดปทุมธานี โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปทุมธานีได้ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน จัดทำโครงการมาตรการองค์กรความปลอดภัยทางถนนจังหวัดปทุมธานี โดยมีการกำหนดมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อเป็นการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนของบุคลากร เจ้าหน้าที่ของรัฐ 6 มาตรการ ได้แก่
1. รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัย และรถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย 100% ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
2. ทางข้าม ทางม้าลาย ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย
3. รถรับ – ส่งนักเรียน ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย
4. การจัดการจุดเสี่ยงอุบัติเหตุครอบคลุมทุกพื้นที่
5. การจัดทำ พ.ร.บ. ภาคบังคับ
6. หน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ สถานประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง แจ้งบุคลากร/เจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติตนเป็นต้นแบบ รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปคาดเข็มขัดนิรภัย และสวมหมวกนิรภัยทั้งผู้ซ้อนและผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคลากรและประชาชนทุกกลุ่มในการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน ลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี